โกร่งบดยา


โกร่งบดยา เป็นอุปกรณ์สำหรับบดยา โดยมีส่วนประกอบสองอย่างคือ โกร่งบด มีลักษณะเป็นถ้วยก้นลึก มีฐานแบน และ ลูกบด มีลักษณะเป็นแท่ง คล้ายครกกับสากที่มีขนาดเล็ก ทำจากดินเผา ผิวเรียบสีน้ำตาลดำ


ข้อง (เครื่องเขิน)


ข้อง โดยปกติแล้วจะใช้สำหรับใส่ปลา สัตว์น้ำ หรือสัตว์ขนาดเล็กที่จับได้ แต่ชิ้นนี้เป็นของที่ผลิตขึ้นเพื่อความสวยงาม สำหรับใช้ใส่ของขนาดเล็ก ประดับตกแต่งบ้าน ทำจากไม้ไผ่จักตอกเป็นเส้นขนาดเล็ก นำมาสานขึ้นรูป ภายในสีดำ ภายนอกมีสีแดงสลับดำ ตกแต่งด้วยลวดลายปั้นสมุกสีทอง เน้นความสวยงามมากกว่าใช้งาน


ชุดขันหมาก เชี่ยนหมาก


ขันหมาก หรือเชี่ยนหมาก เป็นภาชนะใส่สำหรับใส่หมาก พลู ปูนขาว ปูนแดง หรือเครื่องเคียงกินกับหมาก ลักษณะของวัตถุชิ้นนี้คือ เป็นถาดวงกลม ยกขอบสูง วางถ้วยขนาดเล็กไว้จำนวนหนึ่ง ทำจากไม้ไผ่จักตอกแล้วนำมาสานขึ้นรูป ลงรัก และทาสีชาด


แจกันไม้


แจกันไม้ ทำมาจากไม้หวาย แจกันชิ้นนี้เป็นภาชนะที่ใช้หวายจักสานจะเคลือบทาด้วยยางรัก มีการลงรักด้วยสีดำหรือสีแดง แจกันชิ้นนี้มีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายเครือเถา และประดับด้วยอัญมณีสีสันสวยงาม


คนโท น้ำต้น


น้ำต้น หรือคนโท เป็นภาชนะใส่น้ำรูปทรงคล้ายน้ำเต้า มีฐานแบนสำหรับวาง ทำจากดินเผา ประดับตกแต่งลวดลายโดยรอบ ศิลปะไทใหญ่ ใช้สำหรับใส่น้ำดื่ม ต้อนรับแขก ทั้งเป็นเครื่องใช้ในพิธีกรรมของชาวล้านนา เนื่องจากเป็นงานผลิตจากช่างชาวไทใหญ่หรือชาวเงี้ยวในภาษาล้านนา ชาวล้านนาจึงเรียกน้ำต้นรูปแบบนี้ว่า น้ำต้นเงี้ยว


เตหน่า


เตหน่า เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดของชาวปะกาเกอะญอ รูปร่างคล้ายพิณคอหงส์ของพม่า ลำตัวหรือกล่องเสียทำจากไม้ขุดคล้ายเรือ หุ้มโลหะที่กล่องเสียงให้เสียงกังวาน ตรงกลางแผ่นทองเหลืองทำเป็นสันสำหรับมัดลายลวด คอทำขึ้นสูงและยาวเพื่อขึงสาย เวลาเล่นได้ทั้งนั่งและยืนเล่น เนื่องจากมีขนาดเล็ก มักบรรเลงไปพร้อมกับขับขานเสียงเพลง


ซิ่นไหมคำ


ซิ่นไหมคำ หรือซิ่นบัวคำ เป็นผ้าซิ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอจากเส้นไหม บ้างก็ทอจากเส้นทองคำ ตีนซิ่นมีลวดลายเป็นดอกบัวคว่ำบัวหงาย เป็นรูปแบบของชาวไทเขิน เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า และยังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มราชสำนัก ตลอดจนผู้สะสมผ้า เนื่องจากถูกจัดให้เป็นหนึ่งในกลุ่มผ้านางพญาซิ่นล้านนา หากเป็นของราชสำนักจะทอด้วยเส้นเงินหรือทองคำ ปักลายด้วยเพชรพลอยและทองคำ แต่ถ้าเป็นชาวบ้านจะใช้เพียงไหมหรือฝ้ายธรรมดา


บูยา (โลหะ)


บูยา หรือไปป์สูบยาของชาวล้านนา นิยมทำจากดินเผาและโลหะ บูยาชิ้นนี้ทำจากโลหะ หัวบูยาเป็นรูปช้าง ก้านสูบมีความยาว โค้งเป็นรูปคล้ายเกือกม้า มีลวดลายเดินลวดเงินเป็นระยะตลอดความยาวก้าน ใช้สูบยาเส้น เมื่อจะสูบยาเส้นจากบูยาประเภทนี้ จะใส่น้ำเข้าทางหัวช้างพอประมาณ แล้วยัดยาเส้นเข้าที่เบ้าตรงหัวช้าง แล้วจุดสูบ เรียกว่า การสูบผ่านน้ำ


ถาด(ถาดเปล)


ถาดเปลเนื้อเงิน เป็นถาดสำหรับใส่ของที่มีน้ำหนักไม่มาก พื้นเรียบ ยกขอบไม่สูงมาก มีหูหิ้วโค้งครึ่งวงกลมสำหรับจับถือ เนื่องจากมีความสวยงามมาก และทำด้วยเนื้อเงิน จึงนิยมใช้สำหรับวางประดับตกแต่งบ้าน มากกว่านำไปใช้งานจริง


บูยา (ดินเผา)


บูยา เป็นอุปกรณ์สำหรับสูบยาเส้นในสมัยอดีต ทำจากดินปั้นเป็นรูปทรงแล้วไปเผาให้เนื้อแกร่ง เบ้ายาลึกพอประมาณ ภายนอกปั้นเป็นรูปหัวช้าง มีเบ้ายาอยู่บนหัวช้าง ก้านสูบมีลวดลาย เมื่อจะสูบต้องต่อด้ามไม้ให้ยาวออกไปอีก เพื่อป้องกันความร้อนและควันเข้าตา โดยภาพรวมมีรูปร่างคล้ายไปป์ของตะวันตก


ขันเงิน


ขันเงินรูปทรงบานมีหูสำหรับหิ้วผลิตขึ้นจากเงินตอกด้วยลวดลายเครื่องเถาร์ไม่มีรอยบุบหรือรอยรั่วสภาพแข็งแรงสมบรูณ์ นิยมใช้ใส่ของหรือของมงคลต่างๆ


พาน


พานทำจากพลาสติก มีส่วนประกอบสามส่วน ส่วนฐานทำลวดลายสวยงามโดยรอบ ส่วนคอเล็ก ส่วนปากเว้าลึก มีลวดลายโดยรอบ ขอบปากเป็นหยักคล้ายฟันปลาหรือกลีบบัวใช้สำหรับวางของถวายพระ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน หรืออาหารถวายพระ