พิพิธภัณฑ์วัดเกตุการาม

ข้าวของที่จัดแสดงส่วนมากเป็นของที่บริจาคมาเพิ่มเติมในระหว่างที่มีการก่อตั้ง ส่วนแรก เป็นโถงกว้างที่ไม่ได้มีการจัดแบ่งเป็นส่วนด้วยผนังใด ๆ แต่กลุ่มของวัตถุสื่อถึงประเภทของวัตถุ ดังนั้น พื้นที่จึงแตกต่างกันไปโดยปริยาย ทางขวาจากทางเข้า ปรากฏหิ้งพระและพระพุทธรูปศิลปะแบบพม่า เมื่อสอบถามเจ้าอาวาสทราบว่าวัดเพิ่งได้รับบริจาคเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนทางซ้ายมือมีกลุ่มวัตถุสำคัญ 2 ประเภทคือ กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องดนตรีล้านนา เครื่องใช้ในครัวเรือนโดยมากเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่จัดวางตามชั้นไม้ประกอบขึ้นอย่างง่าย หากวัตถุชิ้นใดมีลักษณะการใช้งานแบบแขวน วัตถุจะได้รับการแขวนตามการใช้งานเดิม ส่วนกลุ่มวัตถุที่เป็นเครื่องดนตรี มีทั้งเครื่องดนตรีล้านนา สะล้อ ซึง กลองปูจา ฯลฯ และเครื่องดนตรีไทยเช่น ระนาด ฆ้องวง เป็นต้น จากโถงจัดแสดงด้านนอก เมื่อเดินเข้าไปจะแบ่งห้องจัดแสดงไว้ 3 ห้อง ห้องแรก มีปริมาณสิ่งของจำนวนมากและหลากหลาย ทำให้ห้องดังกล่าวไม่ต่างจากคลังวัตถุ สิ่งของบางประเภทเป็นกลุ่มวัตถุใหญ่ เช่น ผ้า ที่ได้รับการจัดเรียงบนราว ประมาณ 3 ชั้น ซ้อนกันในตู้กระจก หนังสือเก่าต่าง ๆ และของที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เครื่องแก้ว ถ้วยโถโอชาม พัดลมผ้าติดเพดาน เครื่องปั้มน้ำ สิ่งของร่วมสมัยอื่น ๆ ซึ่งมีอายุไม่เก่ามากนักแต่มิได้ใช้งานแล้ว ห้องที่ 2 จัดแสดงของหลากหลายเช่นเดียวกับห้องแรก ประกอบด้วย ภาพเก่า พระพุทธรูป พระพิมพ์ ตาลปัตร (พัดยศของพม่า) หนังสือวรรณกรรมเกี่ยวกับล้านนา เทวรูปที่ปะปนกันตั้งแต่เรื่องของรูปแบบ วัสดุ (ไม้ หิน ปูน) ตุ๊กตาจีน เครื่องชั่งตวงในสมัยก่อน เทป แผ่นเสียงเก่า ห้องที่ 3 ซึ่งอยู่ด้านในสุด ห้องดังกล่าวเน้นการแสดงวัตถุที่มีวัสดุเป็นผ้า ธงต่าง ๆ ธงมังกร ผ้าคัมภีร์เครื่องแต่งกายวัตถุจัดแสดงไว้ทั้งในตู้และขึงบนผนัง ผนังด้านหนึ่งของห้องติดกระดาษแสดงรายชื่อสิ่งของที่จัดแสดงในห้องดังกล่าว ซึ่งเป็นห้องเดียวที่มีกระดาษแสดงรายชื่อวัตถุจัดแสดง และเมื่ออ่านรายละเอียดที่มาที่ไปของวัตถุแล้วจะเห็นว่า เกี่ยวข้องกับกษัตริย์และราชวงศ์ที่ปกครองล้านนาเสียเป็นส่วนใหญ่