ระบำว่าวควายสตูล : จากลีลาจุฬาเล่นลมสู่ท่วงท่าระบำว่าวควาย

รายละเอียด

ที่มาของระบำว่าว
 	ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ทางจังหวัดสตูลได้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันว่าวนานาชาติโดยมีประเทศต่างๆ ที่มีอาณาเขตติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกฯลฯ ซึ่งได้จัดเป็นปีแรกโดยใช้ชื่องานว่าการแข่งขันว่าวนานาชาติครั้งที่ ๑ โรงเรียนสตูลวิทยาซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสตูลก็ต้องรับเป็นเจ้าภาพในพิธีการต่างๆ รวมทั้งการแสดงเปิดสนามในงานครั้งนี้
 	ครูสุรัสดา รักษ์ยศ ซึ่งขณะนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูสอนวิชานาฏศิลป์อยู่ที่โรงเรียนสตูลวิทยาได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมและดำเนินการเกี่ยวกับการแสดงในพิธีเปิดประธานศูนย์วัฒนธรรมสตูลคือผู้อำนวยการโรงเรียนสตูลวิทยาโดยตำแหน่งก็ได้มอบหมายให้ครูสุรัสดารับผิดชอบการแสดงในครั้งนั้นซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นการแสดงอะไรให้ไปคิดเตรียมมาทำให้ครูสุรัสดาค่อนข้างจะเครียดและหนักใจเพราะเป็นงานใหญ่มากเป็นหน้าตาของจังหวัดและศูนย์วัฒนธรรม

	ครูสุรัสดาเล่าว่า ช่วงหนึ่งก่อนถึงกำหนดวันงานประมาณ ๒ เดือน ครูได้ไปพักผ่อนที่บ้านลูกศิษย์ที่เกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ได้ไปนอนเล่นที่ริมหาดเล็กๆ มีโขดหินกระจายอยู่ทั่ว ขณะที่นอนพักผ่อนอยู่ก็เห็นว่าวจุฬาตัวหนึ่งกำลังลอยเล่นลมอยู่บนท้องฟ้า ขณะนั้นมีลมพัดอยู่ตลอดเวลา เห็นว่าวจุฬาตัวนี้เล่นลมฉวัดเฉวียนไปมาตามแรงลม เจ้าของว่าวคงปล่อยมาจากที่ใดที่หนึ่งซึ่งมองไม่เห็นต้นสายป่านเพราะมีโขดหินบังอยู่ ชั่วขณะนั้น ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นในใจของครูสุรัสดา ท่าทางของว่าวที่ล้อเล่นลมนั้นมีทั้งแช่มช้า อ่อนช้อย รวดเร็ว หุนหัน ดูมันช่างงดงามนัก เราน่าจะนำมาประดิษฐ์เป็นท่ารำ คิดได้ดังนั้นวันรุ่งขึ้นก็กลับสตูลและเริ่มคิดท่ารำมาเรื่อยๆ แล้วนำเสนอต่อผู้อำนวยการโรงเรียนสตูลวิทยาว่าการแสดงจะตั้งชื่อว่าระบำว่าวควาย เนื่องจากว่าว่าวควายเป็นว่าวประจำท้องถิ่นของจังหวัดสตูล มีการแข่งขันกันมาเป็นเวลายาวนานจึงคิดว่าเหมาะสมแล้วที่จะนำเอาว่าวนี้แหละมาเป็นการแสดงให้ดูมีชีวิต ชีวาพร้อมกับความประณีตสวยงามของท่ารำและเครื่องแต่งกายซึ่งทางผู้ใหญ่ก็เห็นดีด้วย หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการเรื่องการเรียบเรียงดนตรีประกอบท่ารำซึ่งได้นักดนตรีจากอำเภอหาดใหญ่มาผู้เรียบเรียงให้ โดยให้แยกเป็นจังหวะช้าเร็วสลับกันซึ่งก็ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบตามความต้องการ
 	ในที่สุดการแสดงระบำว่าควายก็ได้เปิดตัวในงานแข่งขันว่าวนานาชาติครั้งที่ ๑ ณ สนามบินจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นที่จัดแข่งขันว่าวในทุกๆ ปีได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและได้นำออกไปแสดงในหลายๆ งาน ต่อจากนั้นก็กลายเป็นระบำประจำจังหวัดสตูลก็ว่าได้

 	ท่ารำระบำว่าวควาย เป็นการจินตนาการจากลีลาการเคลื่อนไหวของว่าวขณะเล่นลมอยู่บนท้องฟ้า ประหนึ่งนางพญาที่กรีดกรายร่ายรำอย่างมีความสุข ลีลาท่ารำก็จะมีท่าที่อ่อนช้อย แช่มช้าและรวดเร็วดุดัน เช่นเดียวกับว่าวเมื่อลมอ่อนและมีลมแรง ตัวว่าวก็จะฉวัดเฉวียนไปตามแรงลม ส่วนดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง เป็นเครื่องดนตรีสากลแต่ปรับสำเนียงให้เป็นสำเนียงของดนตรีพื้นเมืองทั้งของภาคใต้และภาคกลาง เนื่องจากประเพณีการเล่นว่าวมีทั้งภาคกลางและภาคใต้ สำหรับเครื่องแต่งกายก็ให้มี
สัญลักษณ์ของว่าวควาย ก็คือกระบังหน้ามีเขาควายประกอบ ชุดก็มีผ้าโปร่งแทนปีกว่าว ส่วนอื่นๆ ก็ออกแบบเพื่อความสวยงาม โดยเฉพาะตัวนางพญาก็จะเพิ่มความอลังการเข้าไปให้สมกับเป็นนางพญา 
 	ระบำชุดนี้เกิดจากการจินตนาการของผู้คิดประดิษฐ์เอง ต้องการให้มีนางพญาว่าวและเหล่าบริวารออกมาร่ายรำถวายเจ้าสมุทรเทวา ซึ่งจะออกมาร่ายรำกันปีละ ๑ ครั้งในฤดูมรสุม