น้ำต้น


เป็นเครื่องปั้นดินเผา มีฐานเล็กแล้วค่อยๆ ขยายกว้างมากขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่บรรจุน้ำ จากนั้นเริ่มสอบเข้าเพื่อรับส่วนคอที่ยาวเรียวขึ้นไปจบที่ปากน้ำต้นที่ผายออกเล็กน้อย ตกแต่งด้วยลวดลายการกดแม่พิมพ์เส้นไข่ปลาบริเวณขอบคอน้ำต้นเล็กน้อย


หม้อน้ำ


เป็นหม้อน้ำขนาดเล็ก ทำจากดินเผา ฐานเป็นวงกลม ค่อยๆกว้างขึ้นจนบริเวณกลางลำตัว และเล็กลงจนถึงบริเวณปาก ตรงกลางมีลวดลายแบบมีหยัก มีฝาปิด


ภาชนะดินเผาเตาบ้านสันกลาง - บ่อแฮ้ว อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง


เป็นภาชนะดินเผาก้นแบบปากผายออก เผาจนเนื้อแกร่งไม่เคลือบผิด พบจากแหล่งเตาบ้านสันกลาง – บ่อแฮ้ว ค้นพบโดยบังเอิญเมื่อมีการขุดสระเก็บน้ำตามโครงการ กสช. บริเวณเนินดินริมห้วยด้านทิศตะวันออกของป่าช้าบ้านสันกลาง อำเภอเมือง ลำปาง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 พบเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก ไม่มีหลักฐานของลักษณะเตาที่สมบูรณ์ หลักฐานที่พบได้แก่ - เศษผนังเตาสร้างด้วยดิน ภายในมีคราบน้ำเคลือบสีเทา ผิวขรุขระ และมีฟองอากาศ - เศษภาชนะดินเผาเคลือบสีเขียวไข่กา คล้ายกลุ่มเตาอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย - เศษจานดินเผาเคลือบสีเขียวไข่กาเฉพาะด้านในคล้ายจานแหล่งเตาสันกำแพง - เศษภาชนะดินเผาวางซ้อนติดกัน เป็นหลักฐานซึ่งแสดงว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งเตา - กระปุกดินเผาเคลือบสีเขียวใส และเคลือบสีน้ำตาลในแหล่งเดียวกัน - เครื่องใช้อื่นๆ ได้แก่ ตุ้ม สว่านดินเผา หินบดดินใช้กับโกร่ง (เหมือนสากครก) จุกฝาครอบภาชนะ ตุ้มถ่วงแหดินเผา แหล่งเตาบ้านสันกลาง – บ่อแฮ้ว ไม่พบแท่นรองภาชนะที่เรียกว่า กี๋ นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2553 ได้มีนักโบราณคดีชาวต่างประเทศมาขอสำรวจ พบเศษภาชนะดินเผาเคลือบจีนในบริเวณนี้ สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ขอบปากชามแตกเสียหายเล็กน้อย


หม้อน้ำ


เป็นภาชนะดินเผาสีส้มอิฐ มีฐานเล็กและค่อยๆกว้างออก เป็นวงกลม บริเวณปากหม้อมีขนาดแคบ ก่อนถึงบริเวณปากรอบๆมีลวดลายเป็นกลีบดอก ลำตัวมีลวดลายเป็นเส้นตรงเฉียง มีฝาปิด