เหรียญ


เหรียญโลหะทรงกลมโบราณ มีขนาดกว้าง 1.68 เซนติเมตร มีการสลักรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้บนเหรียญโลหะ ในอดีตใช้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนในการซื้อขาย แต่ในปัจจุบันกลายเป็นของสะสมของนักสะสมของโบราณที่มีราคาแพง


ข้อง / ไซหัวหมู


ข้อง หรือไซหัวหมู เดิมเป็นของนายพรหมา บุญชุ่มใจ ปัจจุบันได้มอบให้ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ ไซหัวหมูมีขนาดความยาว 71 เซนติเมตร ความกว้าง 288 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 14 เซนติเมตร เป็นเครื่องมือดักปลาชนิดหนึ่งทางภาคเหนือ ทำด้วยไม้ไผ่ นำมาเหลาเป็นซี่กลมขนาดเล็ก โดยส่วนมากจะนิยมดักปลาในช่วงฤดูฝน


หีบ


หีบใบนี้เดิมเป็นของนางจันติ๊บ บัวมะลิ ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว โดยได้มอบให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อการศึกษาและการอนุรักษ์ ลักษณะของหีบเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ทำด้วยเหล็กทั้งใบ ด้านข้างมีหูหิ้วทั้ง 2 ข้าง บริเวณด้านหน้าของหีบจะมีตัวล็อคเพื่อความปลอดภัย อายุของหีบใบนี้มีอายุเก่าแก่คาดว่าน่าจะมีอายุ 100 ปีขึ้นไป สำหรับขนาดของหีบใบนี้ มีความสูง 25 เซนติเมตร ยาว 42 เซนติเมตร กว้าง 25.5 เซนติเมตร อยู่ในสภาพชำรุดเนื่องจากเกิดสนิมและมีรอยบุบจาการประแทก ในอดีตใช้ในการเก็บสิ่งของที่มีคุณค่า เช่น เสื้อผ้า แก้วแหวนเงินทอง


โก๋งกว้าง / ระวิง


โก๋งกว้างหรือระวิง เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับกรอด้าย ทำงานร่วมกับอัก เพื่อเก็บด้ายที่ปั่นแล้วจากไนมาพันรวมกันที่ระวิง โดยช่างกรอด้ายจะนำเส้นด้ายมาตรวจตราความเรียบร้อยอีกครั้ง เพื่อเก็บส่วนที่เป็นปม หรือขุยด้ายที่ติดพันมาตอนปั่นด้ายออกให้เรียบร้อย ก่อนกวักเข้าอักเพื่อให้เส้นด้ายหรือเส้นไหมเป็นระเบียบเรียงกันเป็นไจ ก่อนนำไปต้มหรือทำการย้อมสี


ที่ห้อยไห / ที่แขวนไห


ที่ห้อยไหชิ้นนี้ มีลักษณะเป็นโครงไม้สานคล้ายห่วงไว้แขวนหรือห้อยกับคานไม้ ขดไม้เป็นวงกลมสำหรับเป็นฐานไว้ห้อยไหหรือหม้อ เดิมเป็นสมบัติของนางอุสา บัวมะลิ ปัจจุบันได้มอบให้นางพรรษา บัวมะลิเพื่อนำเข้าศูนย์การเรียนรู้ฯ


กวงปั่นฝ้าย / บะลุ๊ก (ภาษาไตลื้อ)


“กวงปั่นฝ้าย” หรือภาษาไตลื้อเรียกว่า “บะลุ๊ก” เดิมเป็นสมบัตินางบัวไหล บัวเพิ่มพูล ชาวไทลื้อ เก็บสะสมมากว่า 120 ปี เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปั่นด้ายหรือกรอด้ายเข้าหลอดก่อนนำเข้ากี่เพื่อนำไปทอเป็นผืนผ้า ลักษณะของกวงปั่นฝ้าย ประกอบด้วย ไม้ค้ำ 2 ด้าน มีตัวหมุนหรือตัวปั่นอยู่ตรงกลาง ซึ่งมีลักษณะเป็น 4 แฉก ทำหน้าที่กวักเพื่อเก็บด้ายที่ปั่นดีแล้วจากเหล็กในมาพันรวมกันที่กวง ช่างปั่นด้ายจะนำเส้นด้ายที่ได้มาตรวจตราความเรียบร้อยอีกครั้งเพื่อเก็บส่วนที่เป็นปมหรือขุยด้ายที่ติดพันมาก่อนนำไปใช้งาน


พานทองเหลือง / ขันตอง (ภาษาไตลื้อ)


วัตถุชิ้นนี้มีชื่อว่า ขันตอง ซึ่งเป็นภาษาลื้อ ข้างบนของวัตถุมีลักษณะเป็นทรงกลม มีฐานสำหรับรอง มีรูใต้ฐาน มีสีเหลืองทองประเภทของวัตถุเป็น ทองเหลือง มีสภาพชำรุด เนื่องจากมีรอยขีดขวนและมีสนิมเกาะ โดยขนาดของ ขันตอง มีขนาด กว้าง 18 เซนติเมตร สูง 10 เซนติเมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 9.5 เซนติเมตร ซึ่งเจ้าของเดิม ชื่อ นางสุคำ ยานะ ได้ส่งมอบให้กับ นางพรรษา บัวมะลิ เป็นผู้ดูแล และมีประโยชน์ใช้สอยคือ ใช้สำหรับใส่ธูปเทียนทำเป็นขันดอกสำหรับไปวัด


ขวดเบียร์สิงห์


เบียร์สิงห์มีลักษณะเป็นทรงกลมมีฝาเป็นอลูมิเนียม เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีขนาดสูง 29 เซนติเมตร กว้าง 7 เซนติเมตร อายุประมาณ 80 ปี มีสภาพชำรุด เนื่องจากฉลากฉีกขาด เป็นของสะสมของ นางสุคำ ยานะ ซึ่งเป็นป้าของ นางพรรษา บัวมะลิ ปัจจุบันของชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ไตลื้อบ้านใบบุญ


ปิ่นโต


ปิ่นโตเถานี้เดิมเป็นของนางจันติ๊บ บัวมะลิ ซึ่งได้มอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ ปิ่นโตเป็นภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับบรรจุอาหาร ประกอบด้วยภาชนะรูปทรงกระบอกซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีโครงเป็นโลหะ เรียกว่า “ขาปิ่นโตร้อยตรง” ส่วนหูของปิ่นโตทั้งสองข้างสามารถหิ้วได้ ในอดีตนิยมใส่อาหารลงในปิ่นโตเพื่อนำไปรับประทานตอนกลางวันสำหรับผู้ที่ออกไปทำงานนอกบ้าน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนิยมนำอาหารใส่ปิ่นโตเพื่อไปทำบุญ ถวายให้กับพระภิกษุสงฆ์ในตอนเช้า หรือนำอาหารใส่ปิ่นโตเพื่อนำไปฝากญาติพี่น้อง เพราะปิ่นโตสามารถบรรจุอาหารได้หลากหลายประเภทตามจำนวนชั้นของปิ่นโต และไม่ทำให้อาหารเลอะเทอะ นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการเดินทาง


ตะเกียง / ตะเกง / โกม (ภาษาไตลื้อ)


ตะเกียง ในภาษาไตลื้อเรียกว่า ตะเกง หรือโกม เป็นตะเกียงน้ำมันโบราณซึ่งเป็นของสะสมที่สืบทอดมาช้านาน อายุประมาณ 100 ปี พ่อน้อยเมืองแก้ว บัวมะลิ มอบให้กับพิพิธภัณฑ์ ในอดีตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความจำเป็นในการให้แสงสว่างในเวลากลางคืน โดยนิยมใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิง หรือบางครั้งอาจใช้น้ำมันพืชเพราะไม่มีกลิ่น ไม่มีเขม่าควัน และในภายหลังสามารถหาน้ำมันพืชได้ง่ายกว่าน้ำมันก๊าด รูปแบบของตะเกียงน้ำมันนั้น ตัวตะเกียงทำจากเหล็กและอะลูมิเนียม ไม่มีสีสัน มีลักษณะเป็นทรงกระบอกสูง มีหูสำหรับแขวนหรือจับ วิธีการใช้งาน เริ่มต้นด้วยการเติมน้ำมันลงในตะเกียง เปิดตัวเปิดน้ำมัน และจุดไฟที่ไส้ตะเกียง


หวีสางคา


หวีสางคา หรือไม้สาง เดิมเป็นของนางอุษา บุญชุ่มใจ ได้มอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ เป็นอุปกรณ์สางหญ้าคาที่ใช้มุงยุ้งข้าว


เครื่องพิมพ์ดีด


เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องนี้มีอายุมากกว่า 30 ปี รุ่น Traveller de Luxe ซึ่งเจ้าของคือ นางพรรษา บัวมะลิ มีลักษณะการใช้งาน คือ ใช้สำหรับพิมพ์เอกสาร ตัวเครื่องทำมาจากเหล็กและพลาสติกมีกล่องสำหรับเก็บหมึกพิมพ์ดีด เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนี้มีขนาดความสูง 31 เซนติเมตร ความกว้าง 31 เซนติเมตร ปัจจุบันมีสภาพชำรุด เนื่องจากมีอายุเก่าแก่กว่า 30 ปี เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ปัจจุบันได้จัดแสดงอยู่ในหลองข้าวอุ๊ยติ๊บ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ


หม้อน้ำเงิน / หม้อเขียว (ภาษาไตลื้อ)


หม้อน้ำเงินหรือหม้อเขียวในภาษาไตลื้อชิ้นนี้ เป็นสมบัติของนางจันติ๊บ บัวมะลิ ซึ่งได้มอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ ซึ่งในอดีตชาวไทลื้อนิยมใช้สำหรับบรรจุอาหารเมื่อทำอาหารจำนวนมากเพื่อนำไปทำบุญที่วัดในตอนเช้า เพื่อใส่อาหารไปแจกญาติพี่น้อง หรือเพื่อบรรจุอาหารรับประทานในเวลากลางวันในที่ทำงานเพราะสามารถรับประทานได้หลายคน หม้อใบนี้ มีลักษณะเป็นหม้อเหล็กเคลือบสีน้ำเงินภายนอก ส่วนภายในเคลือบสีขาว ขนาดสูง 18 เซนติเมตร กว้าง 23 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 11.5 เซนติเมตร สภาพหม้อชำรุด ไม่มีหูหิ้ว อายุการสะสมราว 100 ปี


ฝาชี / ฝาปิดข้าว


ฝาชีหรือฝาปิดข้าวนี้เดิมเป็นของนางอุสา บุญชุ่มใจ ทำจากไม้ไผ่สานขึ้นเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม มีหูจับด้านบน ใช้สำหรับปิดภาชนะนึ่งข้าว เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวบ้าน ฝาปิดข้าวนี้มีขนาดความสูง 13 เซนติเมตร ความกว้าง 27 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 13.5 เซนติเมตร


โอ่งเกลือ / อุ่งเกลือ (ภาษาไตลื้อ)


โอ่งเกลือชิ้นนี้มีความสูง 34 เซนติเมตร ปากโอ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร เป็นของสะสมอายุยาวนานกว่าร้อยปี เป็นสมบัติของนางจันติ๊บ บัวมะลิ ซึ่งได้มอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ โอ่งปากแคบใบนี้ใช้สำหรับเก็บรักษาเกลือ ในอดีต “เกลือ” เป็นสิ่งที่มีค่าเช่นเดียวกับเงินตราในปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องเก็บรักษาเป็นอย่างดีในโอ่งปากแคบเพื่อป้องกันการขโมยเกลือ เพราะเมื่อมีคนล้วงมือเข้าไปในโอ่งมือก็จะติดกับปากโอ่งยากต่อการนำมือและเหลือออกนั่นเอง


กระด้ง / ด๋ง (ภาษาไตลื้อ)


“กระด้ง” เป็นเครื่องจักสานหรืออุปกรณ์ที่คนในอดีตใช้ในการร่อนข้าว ตากเมล็ดพันธุ์พืช หรือตากอาหารแห้งต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้รองในการทำขนม กระด้งทำมาจากไม้ไผ่ โดยในการสานกระด้งจะเริ่มต้นสานจากส่วนกลางให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นจึงทำการจักสานบริเวณขอบและดัดให้โค้งเป็นวงกลมเพื่อที่จะทำสันกระด้งหรือขอบกระด้ง นอกจากนี้ ผู้คนในอดีตสมัยยังนิยมนำกระด้งไปอังไฟ เพื่อให้เนื้อไม้ไผ่แห้งสนิทและมีสีที่สวยงาม


กระดิ่งควาย / ฮอกควาย (ภาษาไตลื้อ)


กระดิ่งควาย หรือภาษาไทลื้อ เรียกว่า “ฮอกควาย” ใช้สำหรับห้อยคอสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย เพราะการเลี้ยงสัตว์ในอดีตนั้นเป็นการเลี้ยงปล่อย คือ การปล่อยสัตว์ตามทุ่งนาป่าไร่ ฉะนั้นการตามหาสัตว์เลี้ยงจึงเป็นเรื่องยาก ชาวบ้านจึงประดิษฐ์ฮอกควายขึ้นเพื่อห้อยคอสัตว์ ทำให้ได้ยินเสียงเมื่อสัตว์เดินไปไหนมาไหน ฮอกควายชิ้นนี้เดิมเป็นสมบัติของนายพรหมา บุญชุ่มใจ


น้ำถุ้ง


น้ำถุ้งชิ้นนี้ เดิมเป็นของร.ต.ท.อนันต์ บัวมะลิ ทำจากไม้ไผ่สาน ทายางไม้ผสมขี้เลื่อยเพื่ออุดร่องไม้ไผ่ไม่ให้น้ำรั่วเวลานำไปตักน้ำ ด้ามจับทำจากไม้เนื้อแข็ง เจาะรูสำหรับผูกเชือกเพื่อจะนำไปตักน้ำในนำบ่อที่มีความลึก น้ำถุ้งชิ้นนี้มีขนาดความกว้าง 22 เซนติเมตร สูง 59 เซนติเมตร มีสภาพชำรุด เนื่องจากยางไม้ที่ใช้ทาอุดร่องหลุดกร่อนไปตามกาลเวลา


หมวก / กุบ (ภาษาไตลื้อ)


“กุบ” หมายถึง หมวก มีปีกทำจากไม้ไผ่สานประกบดินสองชั้นบุด้วยวัสดุประเภทใบไม้ บริเวณที่สวมศีรษะสานด้วยไม้ไผ่ สำหรับการทำหมวกหรือกุบเริ่มต้นด้วยการขึ้นโครงโดยใช้ไม้จริงตากเป็นโครงไว้ภายใน ส่วนภายนอกใช้ตอกเส้นเล็กๆ วางเรียงตามโครงของกุบ เมื่อได้โครงแล้วจึงนำออกจากพิมพ์ ก่อนที่จะใช้กระดาษสา หรือพลาสติก ทาบไว้บนโครงที่ทำสำเร็จแล้ว จากนั้นยึดโครงด้วยไม้ไผ่เหลา โดยดัดให้โครงเป็นทรงกลม ตามด้วยการตกแต่งเพื่อความสวยงาม ในอดีตกุบเป็นเครื่องมือสำคัญของชาวนาหรือชาวไร่เวลาไปสวนไปนา กุบใบนี้มีขนาดกว้าง 85 เซนติเมตร สูง 49 เซนติเมตร มีอายุมากกว่า 3 ปี อยู่ในสภาพสมบูรณ์


น้ำต้น


น้ำต้น เป็นภาชนะใส่น้ำศิลปะล้านนาชนิดหนึ่ง ซึ่งในอดีตมีการสืบทอดจากงานฝีมือของช่างชาวไทใหญ่ คนพื้นเมืองนิยมเรียกว่า “น้ำต้นเงี้ยว” เป็นภาชนะดินเผาแรงไฟต่ำ ลักษณะทรงเรียวสูงคล้ายขวดน้ำ ตัวน้ำต้นอ้วนกลม ขนาดปากเล็ก น้ำต้นทั่วไปมักจะมีสีแดงอิฐ ตกแต่งด้วยลวดลายกดประทับและขูดขีด ด้านการใช้สอย น้ำต้นจะใช้สำหรับใส่น้ำดื่มบนเรือนหรือใช้รับแขกเหรื่อที่เดินทางมาบ้าน และยังมีความเชื่อของคนในอดีตที่ว่าน้ำต้นเป็นของสูงจึงใช้สำหรับใส่น้ำในพิธีกรรมต่างๆ หรือกิจกรรมสำหรับผู้ที่มีเกียรติ เช่น ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ตั้งไว้บนหอผีเจ้าทรง หรือใช้ใส่น้ำเพื่อบวงสรวงเซ่นไหว้ผีในพิธีฟ้อนผี สำหรับน้ำต้นชิ้นนี้นางจันติ๊บ บัวมะลิได้มอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ฯ


วิทยุ


วิทยุชิ้นนี้ มีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินคราม มีปุ่มกดบนตัวเครื่องเพื่อใช้ในการบังคับตัวรับสัญญาณวิทยุ ผลิตจากพลาสติกและอลูมิเนียม ปัจจุบันวิทยุมีสภาพชำรุด เนื่องจากวัสดุซึ่งเป็นพลาสติกไม่คงทนต่อแรงกระแทก ทำให้ตัวเครื่องวิทยุแตก ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ วิทยุเครื่องนี้มีความสูง 17 เซนติเมตร กว้าง 6.5 เซนติเมตร ทางศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้รับการบริจาคมาจากนายณรงค์ ณ เชียงใหม่ ซึ่งเก็บสะสมมาแล้วกว่า 70 ปี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในหลองข้าวอุ้ยติ๊บ สำหรับพัฒนาการของวิทยุนั้นเป็นหนึ่งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองที่ทันต่อเหตุการณ์ในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ด้านความบันเทิง สามารถใช้ฟังเพลงได้ โดยเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแทบจะทุกกลุ่มรวมถึงผู้ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ แต่วิทยุมีข้อเสีย คือ มีอายุการใช้งานสั้น และปัจจุบันมีผู้ใช้งานจำนวนน้อยลง เนื่องจากมีทางเลือกในการบริโภคข่าวสารที่มากยิ่งขึ้น


ไม้พายข้าวเหนียว / ไม้ด้ามข้าว (ภาษาไตลื้อ)


ไม้พายข้าวเหนียว หรือไม้ด้ามข้าว ใช้สำหรับคนข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ หรือใช้ตนส่วนผสมในการทำอาหาร มีลักษณะเหมือนไม้พายเรือ ไม้พายข้ามชิ่นนี้มีขนาดความยาว 39 เซนติเมตร ความกว้าง 6 เซนติเมตร สภาพสมบูรณ์ ไม้พายข้าวชิ้นนี้เดิมเป็นของนายพรหมา บุญชุ่มใจ ซึ่งปัจจุบันได้มอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ฯ


ตลับเทป


ตลับเทปชิ้นนี้เดิมเป็นของนางพรรษา บัวมะลิ ที่ได้สะสมไว้ และปัจจุบันได้มอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ฯ ตลับเทปมีลักษณะสี่เหลี่ยมเป็นวัตถุโปร่งใสใช่เป็นที่จัดเก็บตัวเทป ตลับเทปชิ้นนี้มีขนาดความสูง 7 เซนติเมตร ยาว 11.4 เซนติเมตร กว้าง 2 เซนติเมตร มีสภาพสมบูรณ์


แมวขูดมะพร้าว / แมวขูดบะป้าว (ภาษาไตลื้อ)


แมวขูดมะพร้าว หรือแมวขูดบะป้าวในภาษาไตลื้อ หรือบางบ้านเรียกกระต่ายขูดมะพร้าวหรือเหล็กขูดก็ได้ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับขูดมะพร้าวที่ยังไม่ได้กะเทาะเปลือกออก การเรียกชื่อแมวขูดมะพร้าวหรือกระกระต่ายขูดมะพร้าวนั้นอาจเนื่องมาจากฟันที่ใช้ขูดมะพร้าวมีลักษณะเป็นซี่ยาวเหมือนฟันกระต่ายประกอบกับการทำโครงไม้ซึ่งใช้เสียบฟันขูดมักทำเป็นตัวสัตว์แมวหรือกระต่ายมากกว่าประเภทอื่น จากการสอบถามได้ความว่าสมัยก่อนนั้นเดิมจะใช้ช้อนทำกะลามะพร้าวขูดให้เป็นฝอยต่อมาทำเป็นฟันซี่โดยรอบโดยใช้ไม้ไผ่บากรอยเป็นซี่จนกระทั่งมีการใช้เหล็กมาทำเป็นของใช้จึงเปลี่ยนตามยุคสมัย ขนาดของแมวขูดมะพร้าวมีความยาว 53.2 เซนติเมตร สูง 13.2 เซนติเมตร กว้าง 17.5 เซนติเมตร แม่อุ้ยจันติ๊บ บัวมะลิมอบให้ศูนย์การเรียนรู้ ปัจจุบันแม่อุ้ยได้เสียชีวิตแล้ว