อนุสาวรีย์นายซิมหยู แซ่ฉิน ผลิตจากดินขาว มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของคนจริง ขึ้นรูปด้วยวิธีการเทน้ำดินด้วยดินขาวลำปางเคลือบด้านสีขาว เพื่อเป็นเกียรติแก่อาปาอี้ ผู้ให้กำเนิดเซรามิคของจังหวัดลำปางและผู้ก่อตั้งโรงงานเซรามิคในเครือธนบดี โดยการจัดสร้างครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์พัฒนาอุตสหกรรมเซรามิก จังหวัดลำปาง โดย คุณอรพรรณ ตันติวีรสุต ผู้อำนวยการศูนย์ฯ มีคุณมิตร ศิริอางค์ ช่างปั้น ส่วนพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นผู้ปั้นขึ้นรูปและคณะผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ฯ ร่วมกับช่างฝีมือของบริษัทธนบดี ฯ เกิดเป็นผลงานรูปปั้นอนุสาวรีย์แห่งแรกที่ทำจากดินขาวลำปาง
ดินขาว (Kaolin, China Clay) ดินขาว หมายถึง ดินที่มีสีขาวหรือสีซีดจาง ทั้งในสภาพที่เผาและไม่ได้เผา ส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นแร่ดินกลุ่ม Kaolinite คำว่า เกาลิน มาจากภาษาจีนแปลว่าภูเขาสูง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของดินขาวในประเทศจีน ดินขาวมีอยู่หลายชนิดแตกต่างกันไป ตามแหล่งที่อยู่บนผิวโลกดินขาวส่วนใหญ่เป็นดินที่เกิดอยู่ในแหล่งผุพังของหินเดิม (Residual Clay) เป็นดินที่มีเม็ดหยาบจึงมีความเหนียวน้อย ดินขาวแหล่งนี้ มักพบในลักษณะเป็นภูเขาหรือที่ราบ ซึ่งเดิมทีเป็นแหล่งแร่หินฟันม้า ในประเทศมีแหล่ง ดินขาวหลายจังหวัด มีจังหวัดลำปาง อุตรดิตถ์ ปราจีนบุรี ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร
การปั้นด้วยเครื่องจิ๊กเกอร์ ใช้ระบบมอเตอร์หมุน และแม่พิมพ์ก็มีขาชามอยู่ในตัว มีใบมีดติดอยู่กับคันเหล็กสามารถควบคุมความหน้าได้เท่ากันทุกด้านและทุกใบจึงไม่จำเป็นจะต้องทำปากชามให้เป็นแบบเหลี่ยมเหมือนการปั้นแบบโบราณ กำลังการผลิตต่อวันอยู่ที่ 300 ใบ ขั้นตอนต่อมาคือการเช็ดแต่งและการเคลือบ เพื่อดูความเรียบร้อยทั่วไป แห้งแล้วจึงนำชามไปชุบในน้ำยาเคลือบซึ่งมีส่วนผสมของหินฟันม้าและหินควอทซ์ซึ่งเมื่อเผาแล้วจะกลายเป็นเนื้อแก้วเคลือบบนเนื้อเซรามิคให้เกิดความสวยงามและล้างทำความสะอาดง่าย ซึ่งเคลือบเราจะมี 2 แบบคือเคลือบแบบปัจจุบันที่ใช้แร่ดังกล่าว และการใช้เคลือบจากขี้เถ้าแกลบที่จะให้สีอมเขียวเป็นเคลือบแบบโบราณ จากนั้นนำชามไปเผาที่อุณหภูมิ 1,260 องศาเซลเซียสจนสุกตัว