วัดจะทิ้งพระ
ชื่อแหล่งข้อมูล วัดจะทิ้งพระ
วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564
ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบล จะทิ้งพระ อำเภอ สทิงพระ สงขลา 90190
พิกัด ละติจูด 7.4745032
ลองจิจูด 100.4368048
รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ)
วัดจะทิ้งพระเป็นวัดสำคัญและเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองสทิงพระหรือสทิงปุระเมืองเก่าแก่ของเมืองพัทลุงมาแต่โบราณเดิมเรียกว่า “วัดสทิงพระ” ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “วัดจะทิ้งพระ“ โดยสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย โดยพระยาธรรมรังคัลร่วมกับพระครูอโนมทัสสี เมื่อจุลศักราช ๗๙๙ หรือปี พ.ศ. ๑๕๔๒ ต่อมาได้รับการบูรณะขี้นมใหม่ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรสแห่งกรุงศรีอยุธยา ตามตำนานพระนางเลือดขาวกล่าวว่า เจ้าพระยากรงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสีเป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้น ส่วนหลักฐานหนังสือกัลปนาหัวเมืองพัทลุงสมัยอยุธยา ระบุว่าวัดจะทิ้งพระแยกออกเป็นสองวัด โดยมีกำแพงกั้นกลางเป็น ๒ วัด วัดแรกคือวัดสทิงพระมีพระครูวินัยธรรมเป็นเจ้าอธิการหมื่นธรรมเจดีย์เป็นนายประเพณี อีกวัดคือวัดพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ มีพระครูอมฤตย์ศิริวัฒนธาตุ เป็นเจ้าอธิการ ขุนธรรมพยาบาลเป็นนายประเพณี วัดทั้งสองแห่งนี้มีชื่อเรียกร่วมกันว่าวัดเจ้าพี่วัดเจ้าน้องโดยขึ้นกับวัดเขียนบางแก้วคณะป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงรวมเป็นวัดเดียวกัน
วัดจะทิ้งพระตั้งอยู่ริมถนนสายหัวเขาแดง-ระโนด หมู่ที่ ๔ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา วัดจะทิ้งพระนอกจากจะเป็นวัดที่เก่าแก่และสำคัญยิ่งแล้วยังเป็นศูนย์กลางของการปกครองคณะสงฆ์ศูนย์กลางการศึกษาแต่โบราณกาลมา คำว่าจะทิ้งพระตามความหมายที่ฟังดูแล้วเป็นไปในทางที่ไม่ดี อาจจะตีความหมายว่ากำลังจะทอดทิ้งพระหรือจะไม่เอาพระแล้วซึ่งเป็นการตีความหมายที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง คำว่า “จะทิ้งพระ” สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “สทิงปุระ” ซึ่งมีความหมายว่าเมืองที่มีน้ำล้อมเมืองสทิงปุระเป็นเมืองเดียวกับสทิงพาราณสี ซึ่งเป็นเมืองที่เก่าแก่ตั้งอยู่ทางเหนือของวัดจะทิ้งพระนักโบราณคดีมีทัศนะแนวความคิดว่าชื่อของวัดจะทิ้งพระนี้ คนในสมัยโบราณรับคำพูดเล่าต่อ ๆ กันมาว่าเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร มาเป็นชื่อของสถานที่มีเรื่องนิทานชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมา ว่าเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมารน้องชาย เป็นพระธิดาและพระโอรสของพระเจ้าโกสีหราชกับพระนางมหาเทวีครองเมืองนครทันตะปุระ (ประเทศอินเดีย) ขณะนั้นเมืองทันตะปุระเกิดศึกสงคราม พระเจ้าโกสีหราชแพ้สงครามถึงกับสวรรคตในสนามรบ เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าฟ้าชายธนทกุมารได้นำพระบรมสาริีริกธาตุของพระพุทธเจ้าหลบหนีออกจากเมืองทันตะปุระ ตามคำสั่งของพระบิดาลงเรือสำเภามุ่งหน้าสู่เกาะลังกา (ประเทศศรีลังกา) แล้วเดินทางผ่านหมู่เกาะอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย เข้าสู่ช่องแคบมะละกามาออกอ่าวไทย จุดมุ่งหมายเพื่อต้องการนำพระบรมสาริีริกธาตุไปบรรจุไว้ในเจดีย์ที่เมืองนครศรีธรรมราช(ตามตำนานพระมหาธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่าได้มีการสร้างพระธาตุเจดีย์ประมาณ พ.ศ. ๘๕๐) เมื่อเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมารเดินทางมาถึงเมืองพาราณศรี (เมืองสทิงปุระ) เมื่อมาถึงท่าหาดมหาราช เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมารได้เสด็จได้ขึ้นมาพักผ่อนและสรงน้ำ ตลอดถึงหาน้ำจืดสำหรับดื่ม เมื่อเสด็จขึ้นมาเจ้าชายทันทกุมารน้องชาย ได้วางพระบรมสาริีริกกธาตุไว้ที่ฐานเจดีย์ (สถานที่ที่นั้นเข้าใจว่าเป็นวัดจะทิงพระในปัจจุบัน) เมื่อพักผ่อนจนหายจากเหน็ดเหนื่อยก็เดินทางกลับขึ้นเรือสำเภาต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราช แต่เจ้าชายทันทกุมารได้ลืมพระธาตุไว้ที่ชายหาดทรายเจ้าหญิงเหมชาลาตกพระทัย ถามเจ้าชายทันทกุมารน้องชายว่า "น้องจะทิ้งพระธาตุเสียแล้วหรือ" คำว่า "จะทิ้งพระ" นี้เลยกลายเป็นชื่อของสถานที่วัด และบ้านสืบมาจนปัจจุบัน
บรรยาย
เจดีย์พระมหาธาตุหรือเจดีย์พระศรีรัตนมหาธาตุเป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐดินและอิฐปะการังสอด้วยดินบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เจดีย์เป็นรูประฆังคว่ำ หรือรูปโอ่งคว่ำแบบลังกามีปลียอดแหลมอย่างเช่น พระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราช แต่ต่างกันที่ไม่มีรัตนบัลลังก์ เจดีย์มหาธาตุมีความสูงจากฐานถึงยอด ๒๐ เมตร ฐานกว้างด้านละ ๑๗ เมตร ฐานเดิมของเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสต่อมาในสมัยอยุธยา ได้มีการบูรณะเพิ่มเติมฐานเป็นแบบย่อมุมไม้ยี่สิบ ทั้ง ๔ ทิิศจะมีซุ้มพระ ประดับทิศละ ๑ ซุ้ม โดยประสมประสานสถาปัตยกรรมสมัยศรีวิชัยเข้ามา เช่น ทำเป็นมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดทำเป็นสถูปมีเจดีย์บริวาร ๔ มุม ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างเจดีย์คือพระเจ้ากรุงทองแห่งเมืองสทิงพระ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๕๔๒ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๔๗๗ เจดีย์พระมหาธาตุชำรุดทรุดโทรมมาก ได้มีการบูรณะองค์เจดีย์ขึ้นใหม่แต่ก็ยังคงลักษณะเดิมไว้ ในวันเพ็ญเดือน ๓ ของทุกปีจะมีประเพณีแห่ผ้าขึ้นห่มพระมหาธาตุเจดีย์
วิหารพระพุทธไสยาสน์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวิหารพ่อเฒ่านอน เป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างโดยการก่ออิฐถือปูนสันนิฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๕) หน้าบันวิหารบริเวณด้านหน้าประดับด้วยปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตอนล่างมีรูปยักษ์แบกเทวดา และลายไท ส่วนด้านล่างมีรูปยักษ์แบกเทวดา และลายไท ส่วนด้านหลังประดับปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑในปี ๒๕๒๐ ก็ได้บูรณะใหม่อีกครั้ง ภายในวิหารประดิษฐานองค์พระพุทธไสยาสน์ ก่ออิฐถือปูนยาว ๑๔ เมตร สูง ๒ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อเฒ่านอน” ลักษณะนอนตะแคงขวาพระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะศรีวิชัยที่สร้างเลียนแบบศิลปะคุปตะผนัง ภายในวิหารมีภาพเขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติ เช่น ตอนเสด็จไปโปรดพุทธมารดา และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดิงส์ภาพผจญพระยามารภาพเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ เป็นฝีมือช่างท้องถิ่นสามคน คือพระครูวิจารณ์ศีลคุณ (ชู) นายเกลื่อน และนายช่างใบ้ โดยเขียนภาพด้วยสีขาว เทา ฟ้า เขียว ระบายสีบาง ๆ ตัดเส้นด้วยสีอ่อนบนพื้นสีเหลืองอ่อน ส่วนจิตรกรรมอื่น ๆ เช่น ภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ