ฐานข้อมูลสงขลาคดีศึกษา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

โนราเป็นศิลปะการแสดงที่มีชื่อเสียงและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท้องถิ่นภาคใต้อย่างหนึ่ง การออกแบบตราสัญลักษณ์ของสำนักศิลปะและวัฒนธรรมได้นำรูปร่างของเครื่องประดับเทริด ซึ่งมีองค์ประกอบศิลป์ลักษณะความสมดุลแบบสมมาตร การกำหนดโครงสร้างรูปตราสัญลักษณ์นี้เพื่อเป็นการสื่อความหมายบ่งบอกความเป็นเอกภาพในการแสดงออกด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบันอุดมศึกษามีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการอนุรักษ์ พัฒนา และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อเป็นสมบัติของชาติสืบไป ประวัติความเป็นมาของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ความสนใจในการศึกษาและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย เริ่มก่อตัวให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2483 เป็นครั้งแรก ต่อมาได้สถาปนากระทรวงวัฒนธรรมขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2495 จนกระทั่งได้เปิดใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2498 หลักสูตรดังกล่าวประกอบด้วยรายวิชาชุมนุมชนไทยและวัฒนธรรมไทย ซึ่งจากรายวิชานี้เองที่ก่อให้เกิดกระแสความคิดและปฏิบัติการการเรียนการสอนวัฒนธรรมศึกษา โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมพื้นบ้านขึ้นตั้งแต่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลายังเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูสงขลาและโรงเรียนสตรีฝึกหัดสงขลาจึงอาจถือได้ว่า พ.ศ.2498 เป็นยุคเริ่มต้นก่อให้เกิดสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาในปัจจุบัน ผู้ที่สมควรได้รับเกียรติ ยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกงานด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลามาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม คือ รศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม ดร.วิจิตร จันทรากุลและ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ โดยทั้ง 3 ท่าน เป็นผู้ที่มองเห็นความสำคัญของงานวัฒนธรรมโดยเฉพาะงานวัฒนธรรมท้องถิ่น จนกระทั่งได้เกิดเป็นผลงานซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันสำคัญยิ่งในกาลต่อมาอันได้แก่ คณะโนราวิทยาลัยครูสงขลา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา รวมถึงพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้และสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ด้วย ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา การเก็บสะสมข้อมูลทางวิชาการและวัตถุทางวัฒนธรรมได้ดำเนินมาเป็นลำดับ โดยอาศัยหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.ชั้นสูง) และหลักสูตรปริญญาตรีของวิทยาลัยครูสงขลา โดยเฉพาะวิชาเอกภาษาไทยที่มีรายวิชาคติชนวิทยาและภาษาถิ่นประจวบกับ พ.ศ.2519 กองวัฒนธรรม กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายที่จะส่งเสริมงานวัฒนธรรมในทุกภูมิภาคของประเทศจึงเกิดหน่วยงานทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า หน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทยขึ้น โดยกระจายสังกัดอยู่กับวิทยาลัยครู จังหวัดใด ที่ไม่มีวิทยาลัยครูก็ให้อยู่กับวิทยาลัยพลศึกษาหรือโรงเรียนประจำจังหวัดนั้นๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2519 ในลักษณะที่หน่วยงานใดพร้อมก่อนก็ดำเนินการไปก่อน หน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูสงขลา เกิดเป็นหน่วยงานขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2520 โดยอาจารย์ภิญโญ จิตต์ธรรม มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยในขณะนั้น อาจารย์สนิท บุญฤทธิ์ เป็นเลขานุการ โดยสำนักงานตั้งอยู่ที่ห้อง 232 อาคาร 2 วิทยาลัยครูสงขลา และในช่วงก่อนหน้านั้น ดร.วิจิตร จันทรากุล ได้ดำเนินการขอโอนไปรับราชการที่คณะศึกษาศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยชุมชนภูเก็ต และทาง ด้าน ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ขอโอนไปอยู่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นสถาบันทักษิณคดีศึกษาในปัจจุบัน ผลการบุกเบิกงานวัฒนธรรมท้องถิ่นทำให้อาจารย์ภิญโญ จิตต์ธรรม ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการด้านคติชนวิทยาประเทศญี่ปุ่นให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ (Professor) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการจากสภาการฝึกหัดครูเป็นรองศาสตราจารย์ เมื่อ พ.ศ.2521 และอาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการจากสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้เป็นศาสตราจารย์ ในเวลาต่อมา ในการเริ่มต้นงานของหน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูสงขลานั้นนอกจากข้อมูลข่าวสารจำนวนหนึ่งที่ รศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม เขียนขึ้นและพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลดิบด้านคติชนวิทยา ส่วนหนึ่งที่เก็บรวบรวมไว้จากงานที่นักศึกษาวิชาภาษาไทยรุ่นต่างๆ จัดเก็บรวบรวมส่งกับโต๊ะทำงานพร้อมเก้าอี้ 2 ชุด ที่นำมาจากภาควิชาภาษาไทยแล้วกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรเลย ในกระทั่งวิทยาลัยได้ตั้งงบประมาณให้เป็นครั้งแรกในปลายปี พ.ศ.2520 จึงได้มีครุภัณฑ์ 2 ชิ้นแรกตามลำดับ คือ ตู้เหล็กฝาปิด-เปิดสองบานสำหรับเก็บเอกสาร 1 หลัง กับเครื่องพิมพ์ดีดโอลิมเปียแคร่ยาว 1 เครื่อง พ.ศ.2523 กองวัฒนธรรมได้รับการยกฐานะเป็นสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) หน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูสงขลา จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม วิทยาลัยครูสงขลา และ พ.ศ.2524 เปลี่ยนอีกครั้งเป็น ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูสงขลา ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา ในปีเดียวกัน พ.ศ.2528 กรมการฝึกหัดครูใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2528 จึงได้เกิดหน่วยงานศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูสงขลาขึ้นตามพระราชบัญญัติฉบับนั้น วิทยาลัยครูสงขลาจึงมีหน่วยงานทางด้านวัฒนธรรม 2 หน่วยงานพร้อมกัน คือ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา โดยใช้งบประมาณดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กับ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูสงขลา ใช้งบประมาณของกรมการฝึกหัดครูกับเงินบำรุงการศึกษาของวิทยาลัยครูสงขลา ทั้งนี้โดยใช้คณะกรรมการบริหารร่วมกันทั้ง 2 หน่วยงาน ในปี พ.ศ.2535 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ได้โอนความรับผิดชอบงานด้านวัฒนธรรมไปไว้ที่สำนักงานการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาจึงเหลือเพียงศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา รับผิดชอบอยู่เพียงหน่วยงานเดียวแต่ยังคงรับผิดชอบโครงการบางโครงการทั้งจากสำนักงานการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมจังหวัดสงขลาและสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) พ.ศ.2538 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสงขลา เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม” ตามประกาศสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ เรื่อง หลักเกณฑ์การแบ่งส่วนราชการในสถาบันราชภัฏ ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2538 พ.ศ.2548 กระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงให้จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กระทรวงศึกษาธิการ ใช้ชื่อ “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม” ลงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2549 ตั้งแต่เริ่มมีหน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย จนกระทั่งมาเป็นสำนักศิลปะและวัฒนธรรมในปัจจุบัน มีตำแหน่งผู้บริหารและรายนามผู้บริหารตามลำดับ ดังนี้ พ.ศ.2520 อ.ภิญโญ จิตต์ธรรม หัวหน้าหน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย พ.ศ.2525 อ.สุนันท์ พิพัฒน์เพ็ญ หัวหน้าศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา พ.ศ.2526 รศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม หัวหน้าศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา พ.ศ.2528 ผศ.สาโรช นาคะวิโรจน์ หัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูสงขลา พ.ศ.2538 ผศ.นพศักดิ์ บุญรัศมี ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสงขลา พ.ศ.2539 ผศ.สนิท บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสงขลา พ.ศ.2544 – 4 เม.ย. 56 อ.รจนา ศรีใส ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 4 เม.ย. 56 – 26 พ.ค. 56 ผศ.สุพยอม นาจันทร์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัย ราชภัฏสงขลา 26 พ.ค. 56 – 25 พ.ค.64 นายโอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ ปรัชญา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มุ่งส่งเสริม สืบสานและสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติ ปณิธาน สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มีความมุ่งมั่นในการทำนุบำรุง ส่งเสริม เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติสู่สากล เพื่อเสริมสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย วิสัยทัศน์ อนุรักษ์ พัฒนา เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่สากล พันธกิจ 1) ดำเนินกิจกรรมและสร้างเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและบริการทางศิลปวัฒนธรรม 2) ปลูกฝังค่านิยมจิตสำนึกความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมไทยและท้องถิ่นภาคใต้ให้นักศึกษาและชุมชน 3) ส่งเสริม พัฒนา เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในระดับประเทศและนานาชาติ 4) ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม 5) ดำเนินกิจกรรมและสร้างเครือข่ายโครงการสืบสานวัฒนธรรมทักษิณ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการอนุรักษ์โนรา วัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมไทย และท้องถิ่น 2) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ บริการ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ 3) เพื่อส่งเสริมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยและท้องถิ่นภาคใต้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 4) เพื่อสร้างเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ค่านิยมร่วมสำนักศิลปะและวัฒนธรรม : SINCERE : ซื่อสัตย์, จริงใจ S – Skills (ทักษะ) I – International Standard (มาตรฐานนานาชาติ) N – Nice (ดีงาม) C – Courage (กล้าหาญ) E – Elegance (สง่างาม) R – Responsibility (ความรับผิดชอบ) E – Equalily (ความเสมอภาค) ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์สำนักศิลปะและวัฒนธรรม (ปีงบประมาณ พ.ศ.2561 – 2564) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีคุณภาพและมีธรรมาภิบาล เป้าประสงค์ 1) มีระบบบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล 2) มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการให้บริการและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3) เป็นองค์กรที่ตอบสนองต่อพันธกิจและนโยบายของมหาวิทยาลัย ตัวชี้วัด 1) ร้อยละสมรรถนะด้านธรรมาภิบาลในการบริหาร 2) ร้อยละความพึงพอใจของผู้รับบริการ 3) จำนวนโครงการ/ กิจกรรมที่ตอบสนองต่อพันธกิจและนโยบายของมหาวิทยาลัย 4) จำนวนบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาตนเอง กลยุทธ์ 1) จัดตั้งคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล 2) สร้างแนวปฏิบัติที่ดีด้านการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3) สร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานสู่ความเป็นเลิศ 4) ได้รับการยอมรับด้านศิลปวัฒนธรรมที่ตอบสนองต่อพันธกิจและนโยบายของมหาวิทยาลัย ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟู ปกป้อง พัฒนาและเผยแพร่ด้าน ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมอย่างยั่งยืน ตามศาสตร์พระราชา เป้าประสงค์ 1) อนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟู ปกป้อง พัฒนาและเผยแพร่ด้านศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน 2) ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานภายนอกตามศาสตร์พระราชา ตัวชี้วัด 1) จำนวนโครงการ/ กิจกรรมด้านอนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟู ปกป้อง พัฒนาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม 2) จำนวนเครือข่ายด้านทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม 3) จำนวนโครงการ/ กิจกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ กลยุทธ์ 1) สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม 2) ส่งเสริมและสนับสนุนด้านศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม 3) สร้างชุมชนต้นแบบด้านศิลปวัฒธรรมและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม