วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร

วัดสำคัญและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในย่านเมืองเก่าสงขลา สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อ วัดยายศรีจันทร์ตามชื่อคหบดีที่เป็นผู้สร้างวัดนี้ แต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า วัดกลาง เพราะมีการสร้างวัดเลียบทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ทางทิศใต้ และเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "วัดมัชฌิมาวาส" โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งเสด็จเมืองสงขลา พ.ศ.2431 จนกระทั่งในปี พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร 
วัดแห่งนี้เป็นแหล่งที่รวมของงานศิลปะมากมายทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรม โดยแสดงให้เห็นถึงความผสมผสานของวิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนต่างวัฒนธรรมซึ่งอยู่ร่วมกันมาด้วยดีแต่ครั้งโบราณกาล คือ คนไทย จีนและฝรั่งที่เคยเข้ามาทำการค้าในสมัยนั้น

งานศิลป์ที่สำคัญได้แก่ ภายในพระอุโบสถที่สร้างเลียนแบบวัดพระแก้วมีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นบนผนังปูน ซึ่งเป็นฝีมือล้ำเลิศโดยช่างหลวงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นภาพพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และเทพชุมนุม องค์ประกอบของภาพมีความงดงาม และได้สะท้อนภาพของสังคม วัฒนธรรม ในยุคสมัยนั้นได้อย่างดียิ่ง ภายนอกพระอุโบสถมีตุ๊กตาจีน เป็นทวารบาลและมีเจดีย์ทรงจีนหรือถะแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมแบบจีนที่มีอิทธิพลในสมัยนั้น และพระวิหารมีซุ้มเหนือหน้าต่างที่ใช้กระจกสีศิลปะแบบโกธิคประดับสวยงาม
นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส เป็นพิพิธภัณฑสถานที่เกิดขึ้นจากความใส่ใจและสนใจในการรักษาเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น เริ่มจาก พระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ได้เก็บรวมรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในเขตอำเภอสทิงพระและเขตอำเภอใกล้เคียง และที่มีผู้นำมาถวายตั้งแต่ครั้งก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นำมาจัดแสดงที่อาคารไม้หลังอาคารฤาษีดัดตน และจัดตั้งเป็นห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ของวัดมัชฌิมาวาส โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2483 ถือเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในจังหวัดสงขลา ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารศาลาการเปรียญเพื่อใช้เป็นที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์หลังใหม่แทนที่อาคารหลังเดิมที่ชำรุด และได้เรียกชื่อว่า ภัทรศีล์พิพิธภัณฑ์ และรับการยกฐานะให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุฯ เมื่อ พ.ศ. 2504 มีชื่อเรียกในทางราชการ ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภัทรศีล์สังวร” หรือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส”
และอีกสิ่งที่น่าสุดใจคือ ศาลาฤาษี ซึ่งมีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่นบนผนังปูนมีรองพื้น เป็นภาพฤาษีดัดตนตามตำราแพทย์แผนโบราณ มีบางตอนเหมือนกับภาพฤาษีดัดตนที่วัดโพธิ์ฯ กรุงเทพมหานคร แต่มีการเรียกชื่อตามภาษาท้องถิ่น ที่หน้าบันด้านในทั้งสองข้างเขียนภาพ เครื่องยาไทย และโต๊ะหมู่บูชาของจีน ตอนล่างเขียนตัวอักษรบรรยายตัวยา และสรรพคุณตลอดจนวิธีใช้ยาเหล่านั้น ที่ผนังด้านข้างมีภาพฤาษีดัดตนข้างละ 20 ท่า รวม 40 ท่า
 

สถานที่จัดเก็บต้นฉบับ