ดโคกสำราญ สืบรอยอดีตโคกสลุง
วัดโคกสำราญ สืบรอยอดีตโคกสลุง
วัดโคกสำราญ เดิมวัดนี้มีชื่อว่าวัดโคกสลุง สร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๒๐ ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจได้แก่ โบสถ์เก่า และหอระฆัง โบสถ์เก่า เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ยกฐานสูง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น คือ มีกรอบหน้าต่างเป็นวงโค้ง ภายในเจาะเป็นช่องซี่ลูกกรงให้แสงผ่านลอดได้ และที่โคนเสาทั้งสี่มุมของอาคาร ถูกประดับด้วยปูนปั้นกลีบบัวซ้อนกัน ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก สิม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยฝีมือช่างญวน เหนือกรอบวงโค้งมีช่องติดกระจกเงารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสอยู่ภายในทุกช่อง หอระฆัง เป็นอาคารไม้จริงยกสูงตั้งอยู่บนเสาปูนทรงสอบเข้า เพื่อสร้างความแข็งแรงในการรับน้ำหนัก หลังคาทรงจัตุรมุข
นอกจากนี้ บริเวณรอบๆ พื้นที่วัดมีการขึ้นค้นพบ ศาสนสถานและประติมากรรมหินทราย อาทิ ฐานโยนีในศาสนาพราหมณ์ ชิ้นส่วนของอาคารหินทราย นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สันนิฐานว่า เป็นบารายเก็บน้ำ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ผู้คนอาศัยอยู่บริเวณนี้มาไม่ต่ำกว่า 260 ปีมาแล้ว เป็นการตอกย้ำของพื้นที่นี้เป็นเส้นทางการค้าแลกเปลี่ยนระหว่างภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือจะเรียกได้ว่า
โคกสลุงเป็นประตูอีกบานสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่อดีต
ทอหูก ทอผ้าด้วยกี่มือโบราณ
การทอหูก หรือการทอผ้ากี่โบราณ ภูมิปัญญาเก่าแก่ตั้งแต่รุ่นตายายของชาวไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง ชาวไทยเบิ้งจะเรียกการทอผ้าว่าการทอหูก ซึ่งลักษณะของการทอหูกคือการใช้กี่มือแบบโบราณเพื่อการถักทอผ้า เอกลักษณ์ของหูกคือการติดตั้งโครงสร้างที่เป็นเสาด้วยวิธีการฝังดินและขึงเส้นด้ายตลอดความยาว ผูกมัดกับ
เสาเรือนหรือหลักที่ปักไว้ด้านนอกบริเวณบ้าน ซึ่งหูกประเภทนี้มักติดตั้งอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านของชาวไทยเบิ้ง
เวลาทอด้ายก็จะสั้นลง คนทอก็จะเขยิบเสาเข้ามาใกล้ๆ จนกระทั้งด้ายหมด ชาวไทยเบิ้งจะทอผ้านอกฤดูเก็บเกี่ยวมักทอผ้าขาว (ผ้าขาม้า) และย่าม เพื่อใช้สอย เพื่อแบ่งปันและจำหน่ายในบางโอกาส