การเข้ามาของศาสนาพุทธในสุวรรณภูมิ: ร่องรอยในอู่ทอง


การเข้ามาของศาสนาพุทธในสุวรรณภูมิ: ร่องรอยในอู่ทอง


0

ก่อนศาสนาพุทธ

อู่ทองนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งในสมัยนั้นผู้คนที่อยู่ในอู่ทองยังนับถือผีสางกันอยู่นั้นหลักฐานที่ปรากฏคือ หินตั้งในบริเวณป่าหิน ณ พุหางนาคหนึ่งในยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ของภูเขาที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของเมืองอู่ทอง หินตั้ง เหล่านี้ สันนิฐานว่า เป็นการนำหินมาสร้างเป็นอาณาเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 2,000 ปีก่อน ซึ่งถูกพัฒนากลายเป็นใบเสมา แสดงอาณาบริเวณพุทธสถานในช่วงเวลาที่เปลี่ยนมานับถือ ศาสนาพุทธในเวลาต่อมา



หินตั้งในป่าหิน ทางเดินธรรมชาติพุหางนาค


1

อู่ทอง เมืองในทวารวดี

เมื่อเวลาผ่านไป อู่ทองก็เช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ เหนือพื้นที่รูปตัว กอ ไก่ ของอ่าวไทย ที่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนขนาดใหญ่กลายเป็นเมืองและรัฐน้อยใหญ่อย่างคึกคักในช่วงพันปีก่อน ด้วยระบบชลประทานของอู่ทองเจริญไปมาก ดั่งเห็นได้จากการสร้างคูเมืองรอบเมือง ทำให้การเกษตรของอู่ทองรุ่งเรืองมากมากพอให้จำนวนประชากรในอู่ทองเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการค้ากับชุมชนต่างๆ ในสุวรรณภูมิที่ลึกเข้าไป และเมืองท่าโบราณรุ่นแรกๆ ข้อดีของการค้าขายนอกจากความร่ำรวย มั่งคั่งที่มาสู่เมืองอู่ทองแล้ว มาพร้อมๆ กับการได้รับอารยธรรม ความเชื่อ และศาสนา ที่ผ่านเส้นทางการค่าโบราณ โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธจากอินเดีย


2

วัดแห่งแรกในอู่ทอง

พระพุทธศาสนาปรากฏในอู่ทองมาอย่างเนิ่นนาน ด้วยหลักฐานต่างๆ ทำให้เชื่อกันว่า อู่ทองเป็นเมืองหรือชุมชนแรกๆ ที่ศาสนาพุทธเข้ามาประดิษฐาน ณ วัดเขาทำเทียม ซึ่งอยู่ในบริเวณเทือกเขาเดียวกับพุหางนาค พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยที่ยังนับถือศาสนาผี วัดเขาทำเทียม หรือบางทีชาวบ้านเรียกกันว่าวัดเขาธรรมเธียร และวัดเขาถ้ำเทียมสวรรค์ เชื่อกันว่าเป็นวัดแห่งแรกของสุวรรณภูมิ ทำไมคนอู่ทองจึงเชื่อเช่นนั้น เพราะที่วัดนี้ มีการขุดค้นพบก้อนหินขัดมันขนาดใหญ่ จารึกด้วยภาษาสันสกฤตว่า “ปุษยคิรี” ซึ่งเป็นเทคนิคการแกะสลักและขัดมันแบบเดียวกับที่นิยมกันในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ปุษยคิรี แปลว่าภูเขาดอกไม้ ซึ่งไปพ้องกับ ปุษยคีรีสังฆาราม ที่รัฐโอริสสา ประเทศอินเดีย นอกจากนี้กรมศิลปากรยังขุดพบสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์มากมาย เช่น ธรรมจักร ดอกบัว รอยพระพุทธบาท ซึ่งนิยมสร้างกันในสมัยนั้น จึงเป็นไปได้ว่าที่นี่คืออารามของสมณทูต พระโสณะและพระอุตระ ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งมายังแผ่นดินสุวรรณภูมิเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา ตั้งแต่ พ.ศ. 300 จึงอาจกล่าวได้ว่า วัดเขาทำเทียมเป็นวัดแห่งแรกของประเทศไทยและแผ่นดินสุวรรณภูมิ



จารึกอักษรภาษาสันสกฤต “ปุษยคิรี”




ธรรมจักรศิลาทรงกลม ฉลุซี่ล้อโปร่ง พบร่วมกับแท่นรอง และมีเสาตั้งเป็นแท่งหินรูปแปดเหลี่ยม ศิลปะทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 นับเป็นธรรมจักรยุคแรกที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย


3

ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา

บรรยากาศความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธเมืองโบราณอู่ทอง ปรากฏร่องรอยเป็นซากสถูปเจดีย์ วิหาร ในและนอก เมืองอู่ทอง ซึ่งเป็นศิลปะทวารวดี ที่มีรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลศิลปะราชวงศ์คุปตะ (พ.ศ. 863-1,143) และราชวงศ์ปาละ (พ.ศ. 1,273-1,736) ของอินเดียโบราณ ความเจริญของศาสนาพุทธมีอย่างมาก และประดิษฐานอย่างมั่นคง พร้อมๆ กับความรุ่งเรืองของเมืองอู่ทอง อย่างไรก็ตามความเจริญของอู่ทองไม่อาจเทียบเท่ากับความยั่งยืนของศาสนาพุทธ


 

เจดีย์หมายเลขหนึ่ง นอกคู่เมืองอู่ทอง



พระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 – 14


4.

หลังความเสื่อมของเมืองอู่ทอง และอิทธิพลที่มีในปัจจุบัน


อู่ทองและสมัยทวารวดีได้เสื่อมลง พร้อมกัน เนื่องจากภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ ชายฝั่งของอ่าวไทยตื้นเขิน ทำให้เกิดเมืองท่าที่มีความสำคัญมากกว่าที่อยู่ใกล้ชายฝั่งมากกว่าเมืองอู่ทอง อาทิ อยุธยา ตลอดจนการเพาะปลูกที่แย่ลงแม่จะมีการชลประทานที่เพิ่มมากขึ้นแต่ก็ไม่สามารถทำให้เพียงพอดั่งเช่นกาลก่อน ทำให้เมืองอื่นๆ อย่าง สุพรรณที่อยู่ไม่ไกลกันเจริญมาแทนที่ แม้อู่ทองจะเสื่อมลงแล้ว แต่ศาสนาพุทธก็ประดิษฐานในประเทศไทยอย่างมั่นคงแล้ว และส่งต่อความยิ่งใหญ่ผ่านเมือง รัฐ และอาณาจักร โดยรอบของอู่ทอง นับจากหลังสมัยทวารวดี ผ่านมาจนสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งร่องรอยความเจริญของพระพุทธศาสนาก็ได้มีการค้นพบจากการขุดค้นทางโบราณคดี อาทิ จารึก “ปุษยคิรี” ในปัจจุบัน ซึ่งต่อมาชาวอู่ทองในปัจจุบันได้นำมาตั้งเป็นชื่อ พระแกะสลักขนาดใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลจากเขาทำเทียม และอยู่ในแนวเทือกเขาศักดิ์สิทธิมีมาตั้งแต่สมัยศาสนาผี



พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิหรือ หลวงพ่ออู่ทอง เป็นพระพุทธรูปแกะสลักกับหน้าผาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแสดงถึงความสืบเนื่องของศาสนาพุทธมาตั้งแต่สมัยทวารวดี รวมไปถึงความศักดิ์สิทธ์ของภูเขา ที่สืบทอดมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ของอู่ทอง