เครื่องกลึงหัวร่ม (แบบโบราณ, แบบมอเตอร์)


เครื่องกลึงหัวร่ม อดีตจะใช้เครื่องกลึงแบบไม้ มีคานนั่ง ใช้เหล็กในการยึดไม้ ใช้เชือกหรือหนังควาย ที่มีความเหนียว ทนทาน โยงกับไม้คานที่คาดบนหลังคาหรือที่สูงลงมาต่อกับไม้เหยียบ (ทำหน้าที่ผลักพลังงาน ทำให้แกนเครื่องกลึง หมุน ส่วนจะหมุนแรงหรือหมุนเบานั้น ขึ้นอยู่กับแรงเหยียบของช่างแต่ละคน และความเรียบของท่อนไม้ที่จะนำมาทำหัว ตุ้มร่ม) ซึ่งใช้แรงคนในการเหยียบตัวไม้ให้เหล็กที่ยึดไม้หมุนและใช้มีดกลึงหัวร่มกลึงไปตามจังหวะการเหยียบไม้ แต่ในปัจจุบันได้ใช้เครื่องหมุนมอเตอร์เข้ามาช่วยในการกลึงหัวร่มเพื่อความรวดเร็วประหยัดเวลาและแรงคนในการกลึงหัวร่ม


ตะแกรงตักกระดาษสา, พิมพ์สา (คำเมือง)


ตะแกรงตักกระดาษสา ลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 40×60 เซนติเมตร (หรือตามความต้องการ) ใช้เพื่อช้อนตักเยื่อกระดาษสาที่แช่อยู่ในอ่างน้ำ โดยจะช้อนตักเยื่อเข้าหาตัวยกตะแกรงขึ้นตรงๆแล้วเทน้ำออกไปทางด้านหน้าโดยเร็วจะช่วยให้กระดาษมีความบางเสมอกัน ไม้กรอบของตะแกรงจะทำจากไม้สัก เพราะเป็นไม้ที่มีความทนทาน ไม่เปราะบาง หรือบิดงอได้ง่ายเพื่อทนต่อการโดนน้ำและตากแดดหลายครั้งในการทำกระดาษสา


ค้อนไม้


ค้อนไม้ ลักษณะหัวค้อนเป็นทรงสี่เหลี่ยมทำจากไม้ มีด้ามจับ ไว้ใช้สำหรับทุบเปลือกสาให้ละเอียดเพื่อนำเยื่อสามาทำเป็นกระดาษสา ซึ่งการทุบเปลือกสาด้วยมือ จะทำให้เยื่อสากระจายออกเป็นแผ่น และยางจากเปลือกสาที่มีความเหนียว จะทำให้คุณภาพกระดาษสาดี แต่ในปัจจุบันมีการใช้เครื่องมอเตอร์เข้ามาช่วยในการทำเยื่อสาเพื่อเป็นการประหยัดเวลาและแรงคนในการทุบเยื่อสาให้ละเอียดรวมถึงความรวดเร็วในการผลิตเยื่อสาให้มากยิ่งขึ้น แต่การใช้เครื่องตีสา จะทำลายเส้นใยของปอสาให้ขาด คุณภาพกระดาษจึงไม่เหนียวและคงทนเท่าการทุบเปลือกสาด้วยมือ


ครกกระเดื่อง , มอง (คำเมือง)


ครกกระเดื่อง เป็นเครื่องทุ่นแรงชนิดหนึ่งของเกษตรกรจะใช้ในการตำเยื่อสา โดยประดิษฐ์เครื่องมือนี้ในรูปแบบของไม้กระดานหก เป็นการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ตัวครกทำด้วยไม้เนื้อแข็งทนต่อแรงกระแทกได้ดี เช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง ลักษณะตัวครกเป็นรูปทรงกระบอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางหนน้าครก ตัวครกฝังลงดินให้ปากครกโผล่พ้นดินขึ้นมา คันกระเดื่องทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นท่อนตรง เจาะรูไม้ให้ทะลุสำหรับสอดคานขว้างคอกระเดื่องให้ปลายนั้นไปคล้องกับรูที่เจาะไว้ทั้ง 2 ข้างเพื่อทำสากแล้วนำส่วนปลายด้ามทำเป็นที่เหยียบเพื่อสากจะตั้งตรงดิ่งลงตรงกลาง ครกกระเดื่องจะมี 2 เสาทำจากไม้เนื้อแข็งฝังเสาลงดินให้แน่นตั้งอยู่เป็นคู่ขนานในแนวเดียวกัน


เลื่อยมือ


เลื่อยมือ มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดกะทัดรัดพอดีมือ ด้านบนเป็นด้ามจับยาวออกมา ส่วนด้านล่างเป็นใบมีดหยักยาวสำหรับเลื่อยตัดไม้ไผ่ที่จะนำมาใช้ในการทำโครงร่ม


มีดกลึงหัวร่ม


มีดกลึงหัวร่ม มี 2 รูปแบบ ในรูปแบบแรกจะมีลักษณะคล้ายกับเสียม ใช้สำหรับเหลาไม้กระท้อนที่เป็นท่อนสี่เหลี่ยมให้มีความเรียบ รูปแบบที่สองมีลักษณะคล้ายมีดธรรมดาแต่ตรงปลายจะโค้งมนมีความแหลมคมไว้สำหรับลงรายละเอียดของหัวร่ม เมื่อลงมีบนไม้ที่อยู่บนแท่นกลึง ความมนของมีด จะพลิ้ว โค้งไปกับลักษณะของไม้ ที่หมุนอยู่ ที่ให้กลึงได้ง่านขึ้น ซึ่งปลายมีดที่แหลมคมของมีดกลึงหัวร่มทั้ง 2 รูปแบบจะทำมาจากเหล็กแหนบรถยนต์เท่านั้น เพราะเป็นเหล็กที่มีความคงทน


มีดเหลาร่ม


มีดเหลาร่มมีลักษณะขนาดเล็กปลายแหลมคมซึ่งปลายมีดจะทำมาจากเหล็กแหนบรถยนต์เพราะเป็นเหล็กที่มีความคงทน มีดเหลาร่มจะใช้สำหรับเหลาไม้ที่ใช้ในการทำเป็นโครงร่มทั้งหมดทั้งตัวค้ำหรือซี่ค้ำและตัวรับหรือซี่กลอน โดยปลายมีดต้องแหลมคมเพื่อที่ในการเหลาไม้ได้สวยงามและรวดเร็วอีกทั้งยังต้องผ่าซีกตรงกลางของซี่ไม้โครงร่ม ปลายมีดเดิมทีจะมีความยาวเท่ากับมีดปกติทั่วไปแต่ในการเหลาไม้โครงร่มจะทำการลับมีดให้มีความคมอยู่เสมอจึงทำให้ปลายมีดมีขนาดสั้นลงไปตามระยะเวลาการใช้งาน ส่วนด้ามมีดที่เป็นไม้นั้นจะมีลักษณะที่ยาวประมาณ 1 ศอก เพื่อลดแรงในการเหลาไม้โดยการใช้ด้ามมีดหนีบไว้ตรงแขน ให้โค้งตามความยาวของแขนช่างเหล่าร่มแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อช่วยประคองการใช้กล้ามเนื้อแขนและลดการใช้ข้อมือ อันเป็นเหตุให้เกิดอาการข้ออักเสบ (ภูมิปัญญาช่างโบราณ)


สว่านมือ, โยนจี(คำเมือง)


สว่านมือมีลักษณะเป็นแท่งไม้ที่ต้องทำมาจากไม้สักเท่านั้น เพราะไม้สักมีความมัน ลื่น และรูปทรงไม่บิดเบี้ยว สว่านมือมีขนาดด้ามเล็กพอดีมือม้วนเป็นเกลียวยาวประมาณ 39 เซนติเมตร ส่วนปลายมีเข็มสำหรับไว้ใช้เจาะรูไม้ที่ใช้ในการทำโครงร่ม ลักษณะปลายเข็มเป็นทรงสามเหลี่ยมไม่กลมเพราะไม้ที่ใช้ในการทำโครงร่มเป็นไม้ที่มีความบางเฉียบการใช้เข็มปลายสามเหลี่ยมจะทำเจาะรูไม้ได้อย่างง่าย ทำให้ไม้ไม่แตกออกจากกัน ส่วนวิธีการใช้สว่านมือนั้นใช้โดยการเจาะเข็มลงไปในตำแหน่งที่ต้องการเจาะรู ตรงสว่านมือจะมีตัวดึงสว่าน ให้ดึงขึ้น-ลง ตามเกลียวของสว่าน โดยก่อนจะเจาะรูซี่ไม้โครงร่มนั้นจะต้องทำการมัดซี่ไม้ติดกันตามจำนวนโครงร่มในแต่ละขนาดให้แน่นก่อนจะทำการเจาะเพื่อง่ายต่อการเจาะซี่โครงร่มให้ตรงกันทุกรู ซึ่งข้อดีของการใช่สว่านมือ คือ เนื่องจากไม้ไผ่ที่ที่เหลาเป็นซี่ร่มแล้ว จะค่อนข้างบาง โดยเฉพาะส่วนที่ผ่าร่องไม้แล้ว ดังนั้น การใช้เครื่องเจาะ หรือสว่านมอเตอร์ จะเกิดการสั่นสะเทือน และทำให้ซี่ไม้ไผ่แตกง่าย)