การทำกระดาษสาจากเปลือกของต้นสา


นำเปลือกสาที่ได้มาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วนำไปต้มกับขี้เถ้า หรือ โซดาไฟ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง จนเห็นว่าเปื่อยดีแล้ว จึงนำออกมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาทุบให้ละเอียดจนยุ่ย จึงนำไปแช่ในอ่างน้ำซึ่งก่อด้วยซีเมนต์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 2 คูณ 3 เมตร และลึกประมาณ1/2 เมตร บรรจุน้ำ 3/4 ของถัง ใช้ไม้คนให้ทั่วแล้วใช้ตะแกรงขนาดตามที่ต้องการซึ่งส่วนมากจะมีขนาด 40x60 เชนติเมตร ตักเยื่อเปลือกไม้ในน้ำขึ้นมาแล้วนำออกมาตากแดดให้แห้ง เมื่อเนื้อเยื่อของเปลือกสาที่ตากไว้แห้งดีแล้ว จึงค่อยลอกออกมาก็จะได้กระดาษสาเป็นแผ่นเรียกกันว่ากระดาษสา ซึ่งสามารถนำไปใช้หุ้มร่ม หรือใช้ประกอบการหุ้มร่มต่อไป


การร้อยด้ายประกอบโครงร่ม


ให้ร้อยด้ายตามรูของซี่กลอนและค้ำทุกชิ้นเอาด้ายพันเข้าไปในช่องรูที่ทำไว้ตอนกลึงหัวร่มและตุ้ม สอดซี่เข้าไปทุกช่องๆ ละซี่จนครบ ส่วนค้ำที่สอดใส่ในช่องตุ้มในลักษณะเดียวกัน มัดด้ายให้แน่น นำส่วนตุ้มหงายและส่วนหัวคว่ำเข้าประกบกัน สอดใส่ค้ำเข้าไปในร่องกลอนที่ผ่าไว้ช่องละอันและร้อยด้ายให้ติดกัน


การทำโครงร่ม


ซี่กลอนและค้ำทำจากไม้ไผ่บง (ไผ่ตง) เพราะเหนียวและทนทานสวยงามกว่าไม้ไผ่ชนิดอื่น ๆ ในตอนแรกต้องตัดไม้ไผ่ออกเป็นท่อน ๆ ตามความยาวที่ต้องการใช้ในการทำร่ม แล้วผ่าออกเป็นไม้ซี่กลอนและค้ำตามต้องการ ไม้ที่ผ่าออกนี้แต่ละชิ้นต้องผ่าย่อยลงเป็นชิ้นเล็กอีกโดยกะให้ได้ซี่กลอนประมาณ 8-9 ชิ้น เหลาให้ตรงปลายเรียว ส่วนโคนนั้นผ่ากลางแต่ไม่ตลอดแนว สอดใส่ค้ำในภายหลังเจาะรูด้วยสว่านพื้นเมืองโบราณ (สว่านมือ) 2 รู สำหรับร้อยด้ายเข้าโคนของค้ำ การทำค้ำทำโดยเหลาไม้ตามขนาดที่ต้องการให้เป็นชั้นเรียว ๆ เหลาทั้งโคนและปลายให้แบนเพื่อสอดใส่หัวและซี่กลอนต่อไป ใช้สว่านเจาะรูเป็นรู 2 รู ในส่วนที่จะใส่ด้ายจากส่วนตุ้มและด้ายตรงกลาง ส่วนปลายนั้นใช้เหล็กแหลมลนไฟเจาะรูเพราะถ้าใช้สว่านเจาะแล้วจะทำให้ไม้ไผ่แตกได้ง่าย


การกลึงหัว, ตุ้ม และ จิก (ยอด)ร่ม


หัวและตุ้มทำมาจากไม้เนื้ออ่อนหลายชนิดซึ่งภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ไม้ตีนเป็ด ไม้ส้มเห็ด ไม่ตุ้มคำ และไม้แก การทำหัวและตุ้มนี้ใช้วิธีกลึงโดยเครื่องมือโบราณ ซึ่งเป็นวิธีการที่บรรพบุรุษได้เคยใช้ทำมาก่อน ตัดไม้ที่จะกลึงออกเป็นท่อนๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 นิ้วยาวประมาณ 5-8 นิ้ว เจาะรูไว้ให้สามารถสวมเหล็กยึดไม้กลึงได้พอดี แล้วกลึงด้วยเครื่องมือดังกล่าว ไม้แต่ละท่อนที่กลึงนี้จะสามารถกลึงหัวและตุ้มได้ประมาณ 4-5 อันโดยกลึงให้ได้ขนาดที่ต้องการก่อนจึงค่อยตัดแยกออกจากกันอีกทีหนึ่ง


ด้ายร่ม


ด้าย (ฝ้าย) ใช้ขึงยึด ซี่โครง ซี่ค้ำ หัวร่ม ตุ้มร่ม และจัดช่องไฟบริเวณชายร่ม มาจากโรงปั่นฝ้าย (ด้าย) ในเขต อ.สันกำแพง


ปลอกลาน


ปลอกลาน ทำจาก ใบลาน ทำหน้าที่เป็นตัวเคลื่อนขึ้น-ลง เวลากางหรือหุบร่ม พบมากตามหัวไร่ ปลายนา ในเขต อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด


ม้าร่ม


ม้า (สลัก) ทำจากสำหรับร่มเล็กทำด้วยสปริงเหล็ก ส่วนร่มใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่เหลา บริเวณเชิงดอย ในเขต อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด


ซี่กลอนร่ม


ซี่กลอน ทำจากไม้ไผ่ตง เพราะเหนียวและทนทาน บริเวณเชิงดอย ในเขต อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด


ซี่ค้ำร่ม


ซี่ค้ำ ทำจาก ไม้ไผ่ตง เพราะเหนียวและทนทาน บริเวณเชิงดอย ในเขต อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด


คันร่ม


คันถือ ทำจาก ไม้ไผ่เล่มเล็ก หรือ ไม้เนื้ออ่อนก็ได้ พบมากตามหัวไร่ ปลายนา ในเขต อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด


ตุ้ม


ตุ้ม ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ตีนเป็ด, ไม้ส้มเห็ด, ไม้ตุ้มคำ และ ไม้แก พบมากตามหัวไร่ ปลายนา ในเขต อ.สันกำแพงและ อ.ดอยสะเก็ด


หัวร่ม


หัว ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ตีนเป็ด, ไม้ส้มเห็ด, ไม้ตุ้มคำ และ ไม้แก พบมากตามหัวไร่ ปลายนา ในเขต อ.สันกำแพงและ อ.ดอยสะเก็ด